ผลสำรวจความคิดเห็นก่อนสถานการณ์โควิด-19 ชี้ถึงความเชื่อมั่นของคนไทยที่คาดหวังให้เทคโนโลยีเข้ามาเติมเต็มชีวิตด้านสุขภาพ การทำงาน และโอกาสทางธุรกิจ

บริษัทเทคโนโลยียังคงมีรายได้และมีโอกาสเติบโตแม้ในสถานการณ์โควิด-19 โดยสร้างชื่อเสียงและการรับรู้ต่อเนื่องในหมู่ผู้บริโภคที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีระหว่างกักตัวอยู่บ้าน

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคในพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อนเกิดสถานการณ์โรคระบาดนี้ พบว่าคนไทยมีทัศนคติที่ดีต่อภาคธุรกิจเทคโนโลยี และคาดหวังอย่างสูงให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทพัฒนาคุณภาพชีวิตในหลากหลายด้าน

การสำรวจจัดทำโดย InsightAsia ซึ่งเป็นบริษัทด้านการวิจัย ร่วมมือกับวีโร่ เอเจนซี่ด้านประชาสัมพันธ์และการตลาดดิจิทัล พบว่าร้อยละ 76 ของคนไทยคาดหวังให้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ร้อยละ 80 คาดหวังให้เทคโนโลยีช่วยพัฒนาด้านสาธารณสุข และร้อยละ 76 อยากเห็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการศึกษา

ในปัจจุบันนี้ บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นแรงขับเคลื่อนหลักเพื่อช่วยเหลือสังคมท่ามกลางปัญหาการระบาดของโควิด-19 ทำให้เราได้เห็นความคาดหวังต่างๆ ที่ผู้คนมีต่อเทคโนโลยีกลายเป็นความจริงเร็วยิ่งขึ้น และเป็นโอกาสครั้งสำคัญของบริษัทเทคโนโลยีที่จะสร้างชื่อเสียงผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้เพื่อช่วยเหลือสังคม

“วิกฤติครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทเทคโนโลยีได้พิสูจน์ตัวเองอย่างเต็มที่ ด้วยการทำให้ผู้คนเห็นว่าผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ที่นำเสนอ สามารถสร้างประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อสังคมได้อย่างไร” นายไบรอัน กริฟฟิน กรรมการผู้จัดการของวีโร่กล่าว “ทุกวันนี้ เราใช้ประโยชน์มากมายจากเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมต่อหากัน ในการสั่งซื้อสิ่งของที่จำเป็น และติดตามข่าวสารรอบตัวเพื่อให้ทันสถานการณ์ ขณะเดียวกันบริษัทด้านเทคโนโลยีก็ต่างเร่งระดมให้บริการและนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่ล้ำสมัยกันอย่างเต็มความสามารถ”

ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลต่อเทคโนโลยีอยู่

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านภัยไซเบอร์และข่าวปลอมยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อชื่อเสียงของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ โดยสะท้อนจากผลสำรวจว่าร้อยละ 80 ของคนไทยแสดงความกังวลต่อการใช้เทคโนโลยีเพื่อจุดประสงค์ร้าย ซึ่งร้อยละ 62 ของผู้ตอบแบบสอบถามกังวลเกี่ยวกับอาชญากรรมไซเบอร์ และร้อยละ 72 แสดงความกังวลเกี่ยวกับข่าวปลอม บริษัทด้านเทคโนโลยีจึงควรมุ่งป้องกันปัญหาด้านความปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจในกลุ่มผู้บริโภคอย่างเหมาะสม

“แม้ว่าผู้คนต่างเล็งเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีมากขึ้น แต่ก็ยังคงไม่ประมาทต่อภัยไซเบอร์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และยังต้องการทราบว่าผู้ให้บริการได้เตรียมพร้อมรับมือปัญหาต่างๆ ของเทคโนโลยีอย่างเต็มที่” นางสาวภัทร์นีธิ์ จีริผาบ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการประจำภูมิภาคอาเซียนของวีโร่ กล่าว “สิ่งสำคัญที่บริษัทด้านเทคโนโลยีต้องทำคือสื่อสารกับทุกฝ่ายให้เข้าใจถึงมาตรการด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาชญากรรมไซเบอร์ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ

หากผู้คนรู้สึกว่าบริษัทเทคโนโลยีไม่มีความพร้อมในการจัดการกับปัญหาอย่างเพียงพอ จะเป็นการเปิดทางให้หน่วยงานด้านนโยบายต่างๆ เข้ามากำกับดูแล ซึ่งอาจทำให้เกิดการบังคับใช้มาตรการที่เกินกว่าเหตุได้ เราเชื่อมั่นว่าบริษัทเทคโนโลยีส่วนใหญ่ต่างตระหนักถึงความจำเป็นในการเตรียมการต่อภัยคุกคามต่างๆ ตลอดเวลา และหลังจากสถานการณ์ปัจจุบันผ่านพ้นไปแล้ว บริษัทยังคงต้องตอบคำถามต่อสังคมถึงผลด้านต่างๆ ของเทคโนโลยี แม้ว่าในตอนนี้ผู้คนยังจำเป็นจะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ตาม”

ผู้บริโภคอยากฟังเรื่องราวการใช้งานจริง

ผลสำรวจพบว่าเรื่องราวการใช้งานเทคโนโลยีในชีวิตจริงและตัวอย่างการประยุกต์ใช้ในหลากหลายสถานการณ์ สามารถส่งผลต่อความเชื่อถือของผู้บริโภคได้มากที่สุด กว่าร้อยละ 40 ของผู้ตอบแบบสำรวจในไทยกล่าวว่าพวกเขาต้องการเห็นบริษัทต่างๆ แบ่งปันเรื่องราวการใช้งานจริงของผลิตภัณฑ์และบริการด้านเทคโนโลยี

ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจเพียงบางส่วนกล่าวว่าต้องการเห็นบริษัทต่างๆ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (ร้อยละ 35) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ (ร้อยละ 22) ใช้เทคโนโลยีในทางที่ถูกต้อง (ร้อยละ 16) หรือเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรม (ร้อยละ 12)

เรื่องราวเกี่ยวกับการใช้งานเทคโนโลยีในชีวิตจริงสามารถนำเสนอได้หลายรูปแบบ เช่น เนื้อหาที่เขียนโดยนักข่าวหรือนักเขียนบนสื่อที่เชื่อถือได้ หรือจัดทำโดยบล็อกเกอร์ ผู้มีอิทธิพลทางความคิด (Influencer) และบุคคลภายนอกที่บอกเล่าประสบการณ์การใช้สินค้าหรือบริการด้านเทคโนโลยีอย่างเป็นกลางและตรงไปตรงมา

ถึงแม้ผู้คนจะรู้ว่าผู้มีอิทธิพลทางความคิด (Influencer) ถูกว่าจ้างจากบริษัทต่างๆ ให้สร้างเนื้อหาสนับสนุนสินค้า แต่คนทั่วไปก็ยังชอบเนื้อหาลักษณะดังกล่าวอยู่เพราะมีความเชื่อมั่นในตัว Influencer ว่าจะเลือกรับงานรีวิวเฉพาะแต่สินค้าที่ใช้งานได้ดีจริงๆ เท่านั้น

นักการตลาดสาย B2B เองก็สามารถประยุกต์ใช้วิธีการนี้ในการสร้างเนื้อหาประเภทกรณีศึกษา (Case studies) เพื่อดึงดูดความสนใจผ่านประสบการณ์ใช้งานจริงจากลูกค้าธุรกิจหรือบุคคลที่สามที่น่าเชื่อถือได้

“ผลการศึกษาชี้ว่าผู้บริโภคชาวไทยชอบฟังเรื่องราวการใช้งานจริงว่าเทคโนโลยีมีประโยชน์ในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง” นายไบรอันกล่าว “การสำรวจบอกเราว่าผู้คนอยากได้ยินประสบการณ์จากผู้ใช้งานจริงและจากผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับยี่ห้อนั้นๆ โดยตรง ดังนั้นบริษัทต่างๆ จึงควรเน้นทำเนื้อหาประเภทกรณีศึกษา (Case studies) รีวิว และการบอกเล่าเรื่องราวการใช้งานจริงในรูปแบบต่างๆ ผ่านบุคคลที่สามที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อให้เกิดผลสูงสุด”

พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส

ในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถามของ InsightAsia/Vero นั้น ร้อยละ 62 กล่าวว่ามีความรู้สึกโดยรวมในเชิงบวกต่อบริษัทด้านเทคโนโลยี ขณะที่มีเพียงร้อยละ 5 มีความรู้สึกเชิงลบ

ความกังวลที่ผู้คนมีต่อบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่มีทั้งเรื่องทั่วไปเช่นปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ ข่าวปลอม และการถูกเทคโนโลยีแย่งงาน รวมไปถึงข้อกังวลด้านสังคมที่สำคัญเช่นผลกระทบของเทคโนโลยีต่อการเข้าสังคมของผู้คน (ร้อยละ 49) ผลกระทบต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชน (ร้อยละ 48) และผลกระทบต่อสุขภาพ (ร้อยละ 42)

ก่อนหน้าสถานการณ์โควิด-19 ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 83 เห็นว่าเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญเพื่อช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในเวลานี้เทคโนโลยีได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานไปแล้ว และผู้คนก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติในด้านลบที่เคยมีในช่วงเวลาเช่นนี้อีกด้วย

นอกจากนี้ ร้อยละ 81 ของผู้ตอบแบบสำรวจยังกล่าวว่าเทคโนโลยีสามารถสร้างความผ่อนคลาย และร้อยละ 71 กล่าวว่าช่วยให้ลดความเครียดจากการทำงานได้

“บริษัทเทคโนโลยีจะยังคงเข้ามามีบทบาทในสถานการณ์นี้อีกหลายด้าน ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และผู้คนก็จะเริ่มหันมาทบทวนบทบาทของเทคโนโลยีและเล็งเห็นด้านดีที่มีต่อชีวิตประจำวัน ในบางมุมของเทคโนโลยีที่ครั้งหนึ่งคนอาจมองว่าเป็นข้อเสีย เช่นข้อจำกัดของการสื่อสารผ่านช่องทางดิจิทัลที่ไม่สามารถทดแทนการสื่อสารแบบซึ่งหน้าได้อย่างสมบูรณ์

ตอนนี้กลับกลายเป็นข้อดีที่จะช่วยให้เรายังคงติดต่อสื่อสารกันได้อย่างปลอดภัย บริษัทเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม จะมีโอกาสมากกว่าที่จะผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้โดยไม่ได้รับความเสียหายมากนัก หรืออาจจะพลิกมาเป็นผู้เล่นรายสำคัญก็เป็นได้” นางสาวภัทร์นีธิ์กล่าว

“เราสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการเติมเต็มชีวิตและเชื่อมต่อหากันได้มากมาย ทั้งการใช้แอปพลิเคชันเพื่อสั่งอาหารที่นิยมกันในหมู่คนรุ่นมิลเลนเนียล (Millennial) หรือใช้นัดหมายและจัดการประชุม โดยตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้นมา เราได้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้กลายมาเป็นความจริงใหม่ของชีวิตประจำวันไปเสียแล้ว” นางสาวบาร์คา นารูลา ผู้จัดการฝ่ายวิจัยของ InsightAsia ประเทศไทยกล่าว “การสำรวจที่ทำขึ้นก่อนสถานการณ์โรคระบาดนี้ ชี้ให้เห็นว่าผู้คนมีทัศนคติที่ดีต่อเทคโนโลยี แม้ว่าจะมีความกังวลอยู่ในบางด้านบ้างก็ตาม

หลังจากสถานการณ์นี้จบลง เราจะเห็นการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น ในภาคธุรกิจเทคโนโลยี ผ่านนวัตกรรมใหม่ๆ อย่าง IoT บริษัทควรมีการสื่อสารการตลาดให้มีประสิทธิภาพและพัฒนาการบริการลูกค้าให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น เพื่อเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างมิติใหม่ของความสามารถในการแข่งขันกับบริษัทเทคโนโลยีต่างๆได้”

 อ่านรายงานการสำรวจผู้บริโภคเทคโนโลยีฉบับเต็มของประเทศไทย เวียดนาม และพม่า จัดทำโดย InsightAsia และ Vero ได้ที่นี่: https://vero-asean.com/vero-insightasia-tech-consumer-report/

ข่าวประชาสัมพันธ์

SHARE
คนเล่าเรื่องไอที ที่เชื่อว่าการได้เดินทางและการพบปะพูดคุยกับผู้คนในสายงานต่าง ที่ไม่คุ้นเคยคือกำไรชีวิต...หลงไหลในการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ ตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อได้เจอเจ้าหน้าที่ ตม.
RELATED POSTS
หัวเว่ยเผยโฉมไว-ไฟ 7 ในงาน APAN 57 หนุนสถานศึกษาปฏิวัติเครือข่ายรับการเรียนการสอนยุคใหม่
“OnePlus 7 Pro Go Beyond Taiwan” พาแม่เที่ยวไต้หวัน เพียงซื้อ OnePlus 7 Pro ลุ้นรับตั๋วเครื่องบิน ไป-กลับ ไต้หวัน ฟรี!
อาร์ทีบีฯ ขานรับเทรนด์คนทำงานที่บ้านและทำงานทางไกล

Leave Your Reply

*