วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่คุกคามสภาพความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะที่ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 แต่ความช่วยเหลือส่วนใหญ่ได้มุ่งเน้นไปยังการจัดการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค การกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการในการใช้ชีวิตร่วมกันของ คนในสังคมที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
“ท่ามกลางกระแสการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตในวิกฤตการโควิด-19 ยังมีเสียงเล็ก ๆ จากเด็กยากจนอีกกว่า 750,000 คน ทั่วประเทศ ที่ต้องการความช่วยเหลือจากสังคมให้พ้นจากสภาวะขาดแคลนอาหารในช่วงปิดเทอม”
การปิดเทอมที่ยาวนานกับมื้ออาหารที่หายไป?
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องประกาศสั่งเลื่อนการเปิดภาคการศึกษาใหม่ไปเป็น วันที่ 1 ก.ค. ทำให้เด็กๆ มีระยะเวลาในการปิดเทอมที่ยาวนานออกไปถึง 45 วัน สำหรับเด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่ขัดสนก็คงจะไม่มีผลกระทบใดๆ แต่เมื่อหันไปมองเด็กๆ ที่มาจากครอบครัวที่ยากจนเราจะพบวิกฤตที่แฝงอยู่ในวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า “ที่ผ่านมาเครือข่ายครูสังกัด สพฐ. ตชด. และ อปท. กว่า 400,000 คนทั่วประเทศได้มีการลงพื้นที่เยี่ยมสำรวจความต้องการของนักเรียนยากจน เพื่อนำมาประเมินสถานการณ์ ความเสี่ยง และผลกระทบที่นักเรียนจะได้รับเนื่องมาจากการปิดเทอมที่ยาวนานขึ้น
เราพบว่าปัญหาอันดับหนึ่งที่เกิดขึ้นคือความกังวลจากการเพิ่มภาระรายจ่ายค่าอาหารของครอบครัว และยิ่งไปกว่านั้นพบว่าเด็กๆ กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนอาหาร เนื่องมาจากเด็กส่วนใหญ่พึ่งพาอาหารกลางวันที่ครบห้าหมู่จากโรงเรียนเป็นหลัก เมื่อการเปิดเทอมถูกเลื่อนออกไปจึงทำให้เด็กเหล่านี้ประสบสภาวะทุพโภชนาการและต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน”
ความช่วยเหลือเร่งด่วน
กสศ.ในฐานะที่เป็นองค์กรทำงานเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาด้วยการยื่นมือเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามาโดยตลอด ซึ่งเป็นเวลากว่า 2 ปีมาแล้วที่ กสศ. ได้เข้าไปช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมพัฒนา เด็ก เยาวชน ทั้งที่อยู่ในระบบและนอกระบบการศึกษา ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือแก่ครู ผู้พิการ และประชาชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสกว่า 1,147,754 คน ครอบคลุม 27,731 โรงเรียนทั่วประเทศไทย
เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กสศ. จึงเร่งดำเนินการเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มเด็กยากจนพิเศษที่กำลังประสบปัญหาอย่างเร่งด่วน ในเบื้องต้น กสศ. ได้ใช้งบประมาณที่ได้คืนมาจากรัฐบาลรวมกับงบประมาณฉุกเฉิน รวมเป็นเงิน 500 ล้านบาท และได้เร่งนำไปแจกจ่ายช่วยเหลือให้กับนักเรียนยากจนจำนวนคนละ 600 บาท เป็นค่าอาหารเบื้องต้น 30 วัน ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะได้คนละเพียง 20 บาทต่อวันเท่านั้นเอง ซึ่งเงินจำนวนนี้นับเป็นเงินฉุกเฉินเบื้องต้นที่ กสศ. ได้ดำเนินการเยียวยาเด็กๆ ที่กำลังประสบปัญหาอย่างเร่งด่วน
อย่างไรก็ตามยังมีช่องว่างอีก 15 วันก่อนที่จะถึงวันเปิดเทอมที่ กสศ. จำเป็นต้องออกมาระดมทุนผ่านโครงการ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง” ซึ่งต้องการความช่วยเหลือจากภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปให้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสนับสนุน และร่วมสมทบทุนเพื่อเติมเต็มมื้ออาหารให้กับเด็กๆ
ครูลงพื้นที่พบเด็กอดมื้อกินมื้อ
จากการลงพื้นที่ของเครือข่ายครูเพื่อรายงานสภาพความเป็นอยู่ของเด็กนักเรียนยากจนและจากพื้นที่ทุรกันดาร พบว่าเด็ก ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและถิ่นทุรกันดารมักจะไม่ได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ โดยบางบ้านเด็ก ๆ ต้องกินข้าวต้มกับเกลือเสียด้วยซ้ำ
นอกจากนั้นยังพบว่าบางครัวเรือนที่ผู้ปกครองมีอาชีพหาเช้ากินค่ำ จะประสบปัญหาไม่มีเงินซื้ออาหารเนื่องมาจากโดยปกติเด็กจะพึ่งพาอาหารเช้าและอาหารกลางวันจากโรงเรียน เมื่อมีการปิดเทอมที่ยาวนานขึ้นจึงทำให้เด็กต้องอดมื้อกินมื้อ การปิดเทอมที่ยาวนานนี้ หากมองจากมุมของผู้มีอันจะกินคงมิใช่ปัญหา แต่หากมองในมุมของเด็กๆ เหล่านี้มันคือสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ก็คือเรื่องจริงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมและต้องการความช่วยเหลือและร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง
สารอาหารที่ไม่เพียงพอกระทบพัฒนาการของเด็กๆ
อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการด้านโภชนาการ ที่ปรึกษาโครงการ สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัญหาที่พบบ่อยในการติดตามพัฒนาการของเด็กยากจนคือ สภาวะทุพโภชนาการ หรือการที่เด็กไม่ได้รับสารอาหารครบถ้วน โดยเด็กๆ เหล่านี้ต้องการอาหารที่ครบ 5 หมู่
ซึ่งจำเป็นต่อพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา สมอง ซึ่งหากเด็กๆ ไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอจะส่งผลกระทบให้มีอาการสมองฝ่อ ร่างกายเตี้ย ผอมแคระแกร็น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเรียนและพัฒนาการทางสติปัญญา ที่ผ่านมาพบว่าเด็กที่มีปัญหาจะอยู่ในถิ่นทุรกันดารหรือมาจากครอบครัวที่ยากจน
โดยเด็กมักจะไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอในระหว่างปิดภาคเรียนเนื่องมาจากความยากจน ซึ่งเด็กเหล่านี้จะพึ่งพาอาหารที่ถูกหลักโภชนาการจากโรงเรียน ดังนั้นเมื่อกำหนดเปิดภาคการศึกษาถูกเลื่อนออกไปจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อเด็กกลุ่มดังกล่าวโดยตรง เพราะโรงเรียนไม่ใช่แค่สถานที่เรียนรู้ แต่คือโรงครัวของเด็กๆ ที่ยากจน”
ปัญหาปากท้องของเด็กยากจนในช่วงปิดเทอมที่ยาวนานอาจจะเป็นปัญหาระยะสั้นที่ต้องเร่งมือกันช่วยแก้ไข แต่ปัญหาระยะยาวนั้นมีผลกระทบเป็นทอดๆ และต่อเนื่องในหลากหลายมิติ ซึ่งสภาวะขาดแคลนของครอบครัวที่ขาดรายได้นอกจากจะส่งผลกระทบต่อตัวเด็กแล้ว ยังเชื่อมโยงเป็นลูกโซ่จนสามารถส่งผลกระทบให้เด็กเหล่านั้นจำต้องออกจากระบบการศึกษาในที่สุด และแน่นอนว่าการที่เด็กคนหนึ่งจำต้องออกจากระบบการศึกษาจะส่งผลโดยตรงต่อโอกาสในชีวิตของเด็กและสามารถกลายมาเป็นปัญหาอื่นๆ ให้กับสังคมได้อีกมากมาย
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบริจาคเพื่อช่วยเหลือเด็กที่ยากจนพิเศษจำนวนกว่า 750,000 คนทั่วประเทศ ในโครงการ #สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม กับกสศ. ผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี: กสศ.มาตรา 6(6) เลขบัญชี: 172-0-30021-6 หรือ www.eef.or.th/donate-covid/ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-079-5475
ข่าวประชาสัมพันธ์