LINE ประเทศไทย เปิดเผยตัวเลขสรุปการดำเนินธุรกิจด้วยแพลตฟอร์ม LINE ของผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี (SMEs) ไทย มีการเปิดบัญชี LINE Official Account (LINE OA) เพิ่มขึ้นเกือบล้านราย

เผยปัจจัยบ่งชี้ SMEs ไทยมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องดิจิทัลเพิ่มขึ้น พร้อมสร้างแบรนด์บนโลกออนไลน์อย่างจริงจัง ตอกย้ำจุดยืนการเป็นเพื่อนร่วมทางเคียงข้าง SME ไทย ให้เติบโตบนโลกดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน

 นางสาวสกุลรัตน์ ตันยงศิริ ผู้อำนวยการธุรกิจเอสเอ็มอี LINE ประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการ SMEs ถือเป็นผู้ใช้งานหลักของ LINE OA ซึ่งมีจำนวนเกิน 90% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด LINE จึงให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานธุรกิจในกลุ่มนี้มาก    ในปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ถึงแม้จะมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากการเปิดประเทศ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ แต่ยังคงต้องหาทางออกในการทำให้ธุรกิจอยู่รอด ช่องทางดิจิทัลโดยเฉพาะแฟลตฟอร์ม LINE เป็นทางเลือกในการเข้าถึงลูกค้าที่มีประสิทธิภาพสูง ส่งผลให้เกิดการใช้งานเพิ่มขึ้น มีจำนวนการเปิดบัญชีใหม่เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 1 ล้านราย หรือคิดเป็นการเติบโต 25% เทียบจากปีก่อนหน้า

โดยธุรกิจที่ใช้งาน LINE OA มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ความงาม แฟชั่น และธุรกิจอาหาร (F&B) ตามลำดับ ซึ่งธุรกิจอาหารมีการเติบโตสูงที่สุดถึง 51% ในขณะที่ความงามและแฟชั่น เติบโตอยู่ที่ 31% คาดว่าเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่ใช้ชีวิตนอกบ้านน้อยลง ทำให้ร้านอาหารจำเป็นต้องใช้เครื่องมือดิจิทัลในการเข้าถึงและให้บริการลูกค้าถึงบ้านมากยิ่งขึ้น โดยนอกจากการมีบริการส่งอาหาร หรือ เดลิเวอรี่แล้ว SMEs ในกลุ่มธุรกิจอาหารยังมีการเปิดใช้ LINE OA เพื่อสร้างแบรนด์อย่างจริงจังบนโลกออนไลน์ ด้วยการมีช่องทางติดต่อสื่อสารกับลูกค้า พร้อมเชื่อมต่อกับการสั่งอาหารผ่าน LINE OA ไปด้วยในตัว

ในส่วนของเครื่องมือ ฟีเจอร์ภายใน LINE OA สำหรับ SMEs ไทย การใช้งาน แชต (Chat) ยังเป็นฟีเจอร์อันดับ 1 ที่ผู้ประกอบการเลือกใช้งาน แชต (Chat) เป็นเสน่ห์ที่โดดเด่นของแพลตฟอร์มที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึง พูดคุย สร้างสัมพันธ์กับลูกค้าได้โดยง่าย ตามมาด้วยฟีเจอร์บรอดแคส (Broadcast) อาวุธสำคัญในการเปิดการขายกับลูกค้าผ่านการส่งข้อมูลการขาย ทั้งแนะนำสินค้าใหม่ โปรโมชั่นต่างๆ  และที่มาแรงที่สุดในปีที่ผ่านมา คือ การใช้งานริชเมนู (Rich Menu) ที่มียอดการใช้งานเป็นอันดับ 3 แต่มีตัวเลขการใช้งานเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 232% แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการ SMEs เริ่มมีความรู้ด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้น สามารถใช้งานเครื่องมือหรือฟีเจอร์ ลูกเล่นอื่นๆ เพื่อสร้างประสิทธิภาพให้กับ LINE OA ของตนเองได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังพบว่าฟีเจอร์ใหม่ ที่เปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2020 อย่าง LINE OA Call ช่วยสร้างความสะดวกให้กับลูกค้าในการติดต่อสอบถามข้อมูลด้วยการโทรเข้า LINE OA เพื่อพูดคุยกับแอดมินของแบรนด์หรือร้านค้าได้โดยตรง ก็ได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในการเปิดใช้ฟีเจอร์นี้อย่างเห็นได้ชัด โดยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 220% ด้วยกัน ในขณะที่ LINE เน้นย้ำเพิ่มเติมถึงอีก 2 ฟีเจอร์บน LINE OA ที่นับเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของ SME ในยุคดิจิทัลอย่างมาก คือ พรีเมี่ยมไอดี (Premium ID) ที่ช่วยทำให้ไอดีของร้านเป็นที่จดจำและบอกต่อง่าย มีประโยชน์อย่างมากในการสร้างการรับรู้บนโลกออนไลน์ และยังมี บัญชีรับรอง (Verified Account) ที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ เนื่องจากมีการแข่งขันสูง แบรนด์จึงควรต้องสร้างการจดจำและสร้างความน่าเชื่อถือควบคู่กันไป โดยในปีที่ผ่านมา การใช้งานพรีเมี่ยมไอดีและบัญชีรับรองมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 8% และ 14% ตามลำดับ

นอกจากนั้น LINE ได้เพิ่มศักยภาพการทำธุรกิจดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยได้เปิดให้ผู้ประกอบการสามารถลงโฆษณาบน LINE ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องผ่านเอเจนซี่ ด้วย LINE Ads Platform หรือ LAP มาตั้งแต่ปลายปี 2020 ถือเป็นอีกเครื่องมือที่ได้รับความนิยมมาก เพราะเป็นเครื่องมือโฆษณาที่ทรงประสิทธิภาพบนแชตคอมเมิร์ซที่จะช่วยให้เข้าถึงลูกค้าได้อย่างไม่พลาดเป้า

โดยในปีที่ผ่านมามียอดเปิดบัญชีโฆษณาในกลุ่ม SMEs เพิ่มขึ้นถึง 106% และตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปีที่ผ่านมา LINE ได้เปิดช่องทางในการให้คำปรึกษาด้านโฆษณาผ่าน LAP แก่ SMEs ทั่วประเทศไทย และมีผู้ประกอบการสนใจเข้ารับคำปรึกษาสอบถามการใช้งานแล้วเกิน 1500 เคส

สำหรับกลุ่มธุรกิจมาแรงที่ลงเม็ดเงินโฆษณาผ่าน LAP มากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ ธุรกิจการศึกษา พร้อมอัตราการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 สูงถึง 609% ตามมาด้วยธุรกิจบันเทิง ที่มีอัตราการลงเม็ดเงินเพิ่มขึ้น 187% และธุรกิจแฟชั่น เพิ่มขึ้นถึง 180% ทั้งนี้ 2 วัตถุประสงค์ยอดฮิตในการลงโฆษณาบน LAP ยังคงเป็นการโฆษณาเพื่อเพิ่มเพื่อน (Gain Friends) และการโฆษณาเพื่อเยี่ยมชมเว็บไซต์ (Website Visit) โดยการโฆษณาเพื่อเพิ่มเพื่อนเป็นวัตถุประสงค์ยอดนิยมอันดับ 1 มาโดยตลอด เพราะเมื่อลูกค้าติดตามเป็นเพื่อนใน LINE OA ทำให้ผู้ขายสามารถมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ซื้อได้อย่างใกล้ชิด เกิดการซื้อขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเป็นช่องทางรักษาฐานลูกค้าระยะยาวได้เป็นอย่างดี การเปิด LINE OA พร้อมการลงโฆษณาผ่าน LAP เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับ LINE OA จึงกลายเป็นกลยุทธ์ยอดนิยมของ SMEs ไทยในการทำธุรกิจแห่งยุคดิจิทัลบนแพลตฟอร์ม LINE อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

สำหรับในปี 2565 LINE ยังคงตั้งเป้าเป็นเพื่อนร่วมทางเคียงข้าง SMEs ไทย สนับสนุนผู้ประกอบการให้เดินหน้าต่อด้วย เครื่องมือดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ คอยขับเคลื่อนให้การทำธุรกิจเกิดประสิทธิผล พร้อมมุ่งยกระดับความรู้ ความเข้าใจในการทำธุรกิจยุคใหม่ และความชำนาญในการใช้งานเครื่องมือดิจิทัลให้เหมาะกับธุรกิจของ SMEs ไทยที่มีหลากหลาย แตกต่างกันไปตามปัจจัยมากมาย โดยแบ่งเป้าหมายออกเป็น 2 ด้าน

  • ด้านแพลตฟอร์ม – พัฒนาเครื่องมือหรือโซลูชั่นใหม่ๆ เพื่อ SMEs โดยเฉพาะ (Customized Solutions for SMEs) ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาพื้นที่และรูปแบบการลงโฆษณาบน LAP ใหม่ๆ เพื่อรองรับและตอบโจทย์การใช้งาน SMEs ไทยมากยิ่งขึ้น อาทิ การเพิ่มตำแหน่งการวางโฆษณาไปบน LINE OpenChat ที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่ผู้ใช้งานคนไทย ด้วยยอดผู้ใช้กว่า 6 ล้านคนต่อเดือน ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงมากในการเข้าถึงลูกค้า และโฆษณาในรูปแบบวิดีโอบน LINE VOOM ซึ่งคาดว่าจะเป็นเทรนด์ที่มีบทบาทในการโฆษณาบนแพลตฟอร์ม LINE อย่างมากต่อไปในอนาคต รวมไปถึง แผนการพัฒนาเครื่องมือเดิมในตลาด ให้เหมาะกับการใช้งานสำหรับ SMEs มากขึ้น อาทิ MyCustomer เครื่องมือเสริมประสิทธิภาพให้ LINE OA สำหรับธุรกิจองค์กรในการบริหารจัดการดาต้า เป็นต้น
  • ด้านความรู้และกิจกรรม – ยกระดับความรู้ ความเข้าใจ และความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจยุคดิจิทัลให้ SMEs ไทย ด้วยกองทัพกิจกรรมการให้ความรู้ และแคมเปญ โปรโมชั่น โครงการต่างๆ ตลอดปี ที่จะแบ่งประเภทและรูปแบบให้เหมาะสมเฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น (1) การจัดกิจกรรม หรือให้ความรู้ตามระดับความรู้ของผู้ประกอบการ ทั้งระดับความรู้ในเชิงการทำธุรกิจ หรือระดับความรู้ที่มีต่อแพลตฟอร์ม LINE (2) การจัดกิจกรรม หรือให้ความรู้เฉพาะแบ่งตามพื้นที่ภูมิภาค สอดคล้องกับการเปิดตัว LINE Certified Coach ประจำปี 2565 ที่ผ่านมา ที่ได้คัดเลือกกลุ่มโค้ชตามต่างจังหวัด เพื่อตอบรับเป้าหมายการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการทั่วภูมิภาคมากขึ้น และ (3) การจัดกิจกรรม หรือให้ความรู้เฉพาะแบ่งตามประเภทธุรกิจ

อีกทั้ง LINE ยังจะร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น เพื่อร่วมเสริมเติมเต็มความรู้ความต้องการให้กับ SMEs ไทย นำไปสู่การใช้งานแพลตฟอร์มได้อย่างเต็มประโยชน์ และเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจบนโลกดิจิทัลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

“ในปีนี้ 2565 เชื่อว่าเราน่าจะผ่านจุดเลวร้ายที่สุดไปของสถานการณ์โควิด-19 แล้ว และเริ่มมีสัญญาณที่ดีทางเศรษฐกิจ หากแต่ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนอื่นๆ ที่เป็นความเสี่ยงอีกมาก การเปิดรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค การปรับตัว ปรับกลยุทธ์ได้รวดเร็ว รวมถึงการเปลี่ยนและปรับปรุงตนเองในทันทีเมื่อเจอผลลัพธ์ที่ไม่เป็นดังหวัง เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเอสเอ็มอีไทย LINE พร้อมเป็นแพลตฟอร์มที่จะอยู่เคียงข้างเพื่อเป็นแรงกำลังสำคัญช่วยให้ผู้ประกอบการไทย เรียนรู้ เข้าใจการทำธุรกิจ ด้วยการใช้งานเครื่องมือดิจิทัลบนแพลตฟอร์ม LINE ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นำไปสู่การดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน” นางสาวสกุลรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : LINE ประเทศไทย

SHARE
คนเล่าเรื่องไอที ที่เชื่อว่าการได้เดินทางและการพบปะพูดคุยกับผู้คนในสายงานต่าง ที่ไม่คุ้นเคยคือกำไรชีวิต...หลงไหลในการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ ตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อได้เจอเจ้าหน้าที่ ตม.
RELATED POSTS
เราคือครอบครัวเดียวกับ…บอร์ดดีแทคอนุมัติการควบรวมกับทรู
ดีแทคพร้อมให้บริการ “การตั้งค่าครอบครัว” แล้ววันนี้
เปิดตัว Dyson Supersonic รุ่นพิเศษเคลือบทองคำ 23.75K

Leave Your Reply

*