หลังจากที่ AIS ประกาศความสำเร็จในการทดสอบเทคโนโลยี 5G CA (Carrier Aggregation) สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกบนคลื่นความถี่ 2600 MHz และ 26 GHz เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา
โดยในครั้งนั้นเป็นการทดสอบที่สามารถทำความเร็วการดาวน์โหลดได้ที่ 8.5 Gbps และอัปโหลดได้ถึง 2.17Gbps วันนี้ AIS ยืนยันความมุ่งมั่นอีกครั้งในการนำนวัตกรรมเข้ามายกระดับโครงข่ายตามเจตนารมณ์ที่ได้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ ด้วยการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ด้านเครือข่ายระดับโลกในการทดลองทดสอบเทคโนโลยี 5G CA อย่างต่อเนื่อง
ด้วยการนำคลื่นความถี่แบบเต็มแบนด์วิธทั้งคลื่นความถี่ย่านกลาง 2600 MHz จำนวน 100 MHz รวมกับคลื่นความถี่ย่านสูง 26 GHz จำนวน 1200 MHz มาทดสอบทั้งในห้องแล็บ และบน Live Network หรือเครือข่ายจริงที่กำลังให้บริการ ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลกที่สามารถทำความเร็วดาวน์โหลดสูงสุดทะลุมาตรฐาน 5G ได้ถึง 22.01Gbps และอัพโหลดสูงสุด 4.4Gbps นับเป็นการยืนยันความพร้อมของโครงข่ายอัจฉริยะ 5G จาก AIS ที่พร้อมเชื่อมต่อทุกอุปกรณ์ที่รองรับในอนาคต
นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS กล่าวว่า “จากเป้าหมายการเป็นองค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ หรือ Cognitive Tech-Co ทำให้ AIS เดินหน้าพัฒนาขีดความสามารถของโครงข่ายที่มีในมือให้มีความพร้อม ด้วยงบลงทุนในปีนี้กว่า 27,000 – 30,000 ล้านบาท เพื่อให้รองรับการใช้งานดิจิทัลสำหรับลูกค้าและคนไทยทุกกลุ่มให้เข้าถึงการใช้งานรวมถึงบริการดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว โดยเฉพาะโครงข่าย 5G ที่วันนี้ AIS ยังคงเป็นผู้นำทั้งในแง่ของความครอบคลุมพื้นที่การใช้งาน และในแง่ของความพร้อมในการรองรับจำนวนผู้ใช้บริการ
จึงเป็นที่มาของการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ระดับโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันคิดค้นพัฒนานวัตกรรมโครงข่ายและอุปกรณ์เพื่อเตรียมรองรับการใช้งานทั้งกับผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคธุรกิจ ที่ต้องการความเร็วแรงของเครือข่ายในระดับสูง
ดังเช่นการทดลองทดสอบเทคโนโลยี 5G CA ในครั้งนี้ที่เป็นทดลองทดสอบ ทั้งในห้องทดสอบ (Lab Test) และบนเครือข่ายที่กำลังให้บริการหรือ Live Network ที่กรุงเทพฯ และ ปริมณฑล ซึ่งใช้อุปกรณ์ตัวรับสัญญาณ และกระจายสัญญาณ AAU 2600MHz และ AAU mmWave เป็นตัวแรกของโลก มาทดสอบ บนคลื่นความถี่ย่านกลาง 2600 MHz จำนวนแบนด์วิธ 100 MHz มารวมกับคลื่นความถี่ย่านสูง 26GHz จำนวนแบนด์วิธ 1200MHz ทำให้เป็นการทดสอบครั้งแรกที่มีการนำแบนด์วิธกว้างที่สุดถึง 1200 MHz ซึ่งผลการทดลองทดสอบออกมาได้ความเร็วดาวน์โหลดสูงสุดถึง 22.01Gbps และ อัพโหลดสูงสุด 4.4 Gbps”
นายวสิษฐ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า “เราเชื่อว่าศักยภาพของ 5G จะเป็นหัวใจสำคัญต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงจะสร้างประโยชน์และประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งผู้บริโภคและกลุ่มองค์กรภาคธุรกิจ
นอกเหนือจากการเร่งวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเทคโนโลยีให้มีความแข็งแกร่งแล้ว การที่เราเดินหน้าทดลองทดสอบเทคโนโลยีโครงข่ายใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง นับเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของผู้ประกอบการไทย ที่จะผลักดันให้ Ecosystem
ทั้งด้านอุปกรณ์ Network, Chipset และ Terminal Devices ผลิตอุปกรณ์ออกมาให้รองรับมาตรฐาน 5G ที่ความเร็วสูงสุดตามที่ได้มีการทดลองทดสอบ เพื่อให้ลูกค้าสัมผัสประสบการณ์การใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และนำนวัตกรรมไปต่อยอดสร้างประโยชน์ให้ประเทศก้าวไปยืนอยู่ในเวทีโลกต่อไป”