ห่างไกลยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยในโครงการ Gulf x AIS Solar Synergy: A Spark of Green Energy Network
GULF และ AIS ประสานความร่วมมือผนึกกำลังมอบโอกาสการเข้าถึงพลังงานและเทคโนโลยีดิจิทัลมุ่งลดความเหลื่อมล้ำสร้างโอกาสทางการศึกษาเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข ตลอดจนการเติบโตของเศรษฐกิจชุมชนและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยในพื้นที่ห่างไกล ผ่านโครงการ Gulf x AIS Solar Synergy: A Spark of Green Energy Network เดินหน้าติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ให้แสงสว่างแก่ชุมชนพร้อมติดตั้งระบบสื่อสารจากสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้แก่ชุมชนห่างไกลนำร่องที่บ้านดอกไม้สดต.แม่อุสุอ.ท่าสองยางจ.ตากก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ
นายธนญตันติสุนทรรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานธุรกิจระบบโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์บริษัทกัลฟ์เอ็นเนอร์จีดีเวลลอปเมนท์จำกัด (มหาชน) และ นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์บริษัทแอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิสจำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ร่วมกันกล่าวว่า “เป้าหมายสูงสุดในการทำงานของ GULF และ AIS คือ ใช้ขีดความสามารถทางธุรกิจของแต่ละบริษัท ในการยกระดับการใช้ชีวิตของคนไทย ให้เท่าเทียม และทั่วถึง พร้อมสนับสนุนภารกิจของภาครัฐในการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน
ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการประสานความร่วมมือกัน โดยใช้องค์ความรู้และประสบการณ์จาก GULF ที่เชี่ยวชาญการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจากเทคโนโลยีทันสมัย และ AIS ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสื่อสารและดิจิทัล ส่งมอบโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและสื่อสาร อย่างระบบไฟฟ้าและสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้แก่คนไทยในพื้นที่ซึ่งยากแก่การที่สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจะเข้าถึง”
GULF จะส่งมอบระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ให้แก่ชุมชนแต่ละแห่งตามสภาพปัญหาของชุมชนนั้นๆ เช่น ปัญหาด้านสาธารณสุข รวมทั้งการป้องกันและรักษาโรคในเบื้องต้น ระบบไฟฟ้าเพื่อการเรียนการสอน ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบกรองน้ำดื่ม ระบบสูบน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค เป็นต้น รวมไปถึงการให้ความรู้พื้นฐานเรื่องพลังงานสะอาด การบำรุงรักษาแผงโซลาร์เซลล์ และการดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
ส่วน AIS จะนำระบบสื่อสารโทรคมนาคมด้วยพลังงานโซลาร์เซลล์ เพื่อให้ชุมชนนั้น ๆ ได้ใช้ประโยชน์ด้านการติดต่อสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ การเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลความรู้ต่างๆบนโลกออนไลน์ พร้อมเติมเต็มโอกาสในการเข้าถึงระบบการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพแบบ “แพทย์ทางไกล” ผ่านเทคโนโลยี Telemedicine รวมทั้งใช้เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านเครือข่ายออนไลน์ ซึ่งจะช่วยสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ โดยได้เริ่มโครงการนำร่องแห่งแรกที่บ้านดอกไม้สด ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่บนภูเขา ขาดแคลนไฟฟ้า มีประชากรประมาณ 700 คน รวม 160 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรทำไร่ข้าวโพด
แม้บ้านดอกไม้สดจะอยู่ห่างจากตัวอำเภอท่าสองยางเพียง 40 กิโลเมตร แต่ด้วยสภาพเส้นทางดินลูกรังและเส้นทางภูเขาที่คดเคี้ยว ส่งผลให้การเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบาก ใช้เวลาเดินทางเข้าสู่พื้นที่กว่า 3 ชั่วโมง ยิ่งในช่วงฤดูฝน เส้นทางสัญจรแทบจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ประชาชนในพื้นที่จึงไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค และระบบการสื่อสารต่างๆ ยังรวมถึงการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที เราจึงเลือกที่นี่เป็นพื้นที่นำร่อง ก่อนที่จะขยายผลไปในพื้นที่อื่นๆ ทุกภาคทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง
“เพราะเราทั้งสององค์กรต่างตระหนักดีว่า ระบบไฟฟ้า และ ระบบสื่อสาร คือ สาธารณูปโภคที่จำเป็นและสำคัญยิ่ง ดังนั้นประชาชนในทุกพื้นที่ ควรได้รับโอกาสในการเข้าถึงอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม จึงถือเป็นแรงบันดาลใจที่ส่งต่อมาสู่พนักงานทุกคนที่ต่างสนับสนุนภารกิจนี้อย่างเต็มที่ ภายใต้บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในแต่ละส่วนงาน โดยโครงการนี้ยังถือว่าสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาด้านความยั่งยืน ที่เกิดจากการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนและการพัฒนาโครงข่ายพร้อมบริการดิจิทัล ซึ่งสามารถสร้างประโยชน์ ครอบคลุมทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Economy) สังคม (Social) และการยืนหยัดเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environment) นั่นเอง” นายธนญและนางสายชลร่วมกันย้ำในตอนท้าย