Lifestyle

“ดาหลา บุปผา ฆาตกรรม” ทะยานอันดับ 1 ซีรีส์ไทยเปิดปี 2568 เผยแง่มุมศิลปะจัดดอกไม้กับการไขคดีฆาตกรรม

Netflix ประเดิมปี 2568 ด้วยซีรีส์ไทยแนว Whodunit เรื่อง “ดาหลา บุปผา ฆาตกรรม” ที่นำศิลปะการจัดดอกไม้มาเชื่อมโยงกับการไขคดีฆาตกรรม สร้างปรากฏการณ์ครองอันดับ 1 ในประเทศไทย

ซีรีส์ไทยแนวดราม่า-ลึกลับที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากในขณะนี้ “ดาหลา บุปผา ฆาตกรรม” (Dalah Death and the Flowers) ได้สร้างปรากฏการณ์ครองอันดับ 1 บน Netflix ประเทศไทย (จากสถิติประจำวันที่ 2 มีนาคม 2568) นับเป็นซีรีส์ไทยเรื่องแรกของปีที่ได้รับความนิยมสูงสุด ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการนำศิลปะการจัดดอกไม้มาผสมผสานกับการไขคดีฆาตกรรม ผ่านมุมมองของผู้หญิงที่เผชิญกับความอยุติธรรมในสังคม

ซีรีส์ “ดาหลา บุปผา ฆาตกรรม” นำเสนอในรูปแบบ Whodunit 6 ตอนที่ชวนให้ผู้ชมติดตามการคลี่คลายปริศนาเบื้องหลังตัวละครและมูลเหตุจูงใจได้อย่างละเมียดละไม ด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่แปลกใหม่ โดยแม้แต่ฉากเปิดของแต่ละตอนก็ยังมีความหมายซ่อนอยู่ รวมทั้งมีบทพูดคมคายและสัญญะที่บรรจงใส่มาอย่างลึกซึ้ง ทำให้ผู้ชมต้องคอยจับตาสังเกตรายละเอียดในทุกฉาก

ดาหลา บุปผา ฆาตกรรม

ผลกระทบลูกโซ่จากความเป็นชายที่เป็นพิษ

จุดเริ่มต้นของคดีในซีรีส์เรื่องนี้มาจากผลร้ายของความเป็นชายที่เป็นพิษ (Toxic Masculinity) ที่เริ่มจากครอบครัวเอื้อเทพาที่เลี้ยงดู โอม-อนุสรณ์ (รับบทโดย ณ-ณภัทร วิกัยรุ่งโรจน์) ด้วยแนวคิดที่บิดเบี้ยว จนทำให้เขาเติบโตมาเป็นภัยร้ายต่อสังคม และจบลงด้วยการเป็นเหยื่อที่ถูกพรากชีวิตไป

ในซีรีส์ ผู้ชมจะได้เห็นกลุ่มผู้หญิงรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรมที่พวกเธอได้รับ ซึ่งการจัดวางประเด็นทางสังคมให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นความตั้งใจของ ปราบดา หยุ่น ผู้อำนวยการสร้างซีรีส์

“ประเด็นเรื่องความเป็นชายที่เป็นพิษจะทำให้ผู้ชมได้ทบทวนว่า ซีรีส์นำเสนอสิ่งที่เราพบเจอในชีวิตอย่างถูกต้องไหม หรือเราคิดอย่างไรกับประเด็นนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่มีผลงานหลายเรื่องที่เคยพูดถึงมานานพอสมควร แต่ประเด็นเหล่านั้นก็ยังไม่ล้าสมัย และยังไม่หมดไปจากสังคม ทั้งที่เป็นประเด็นที่ครอบคลุมถึงทุกคนไม่เจาะจงแค่ผู้หญิงหรือผู้ชาย ผมจึงอยากเล่าประเด็นเหล่านี้เพื่อให้ถูกพูดถึงอยู่” ปราบดา กล่าว

แนวคิดต่างมุมกับเรื่องราวในคดีฆาตกรรม

ซีรีส์ได้พาผู้ชมมารู้จักวิถีของตัวละครที่มีมุมมองชีวิตและแนวคิดที่แตกต่างกัน เริ่มจากนักจัดดอกไม้ลึกลับอย่าง “ดาหลา” (รับบทโดย ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์) ที่ให้ความสำคัญกับการจัดวางคนที่เข้ามาในชีวิตอย่างพิถีพิถัน ส่งผลให้เธอกลายเป็นคนปิดกั้นและดูแปลกแยกเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น

ขณะที่ตระกูลตั้งสินทรัพย์มองว่าลูกหลานที่เป็นผู้หญิงไม่สำคัญเท่าลูกหลานที่เป็นผู้ชาย ทำให้สมาชิกในครอบครัวรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียม และมักมีปากเสียงกันบ่อยๆ ตรงกันข้ามกับตระกูลเอื้อเทพา ที่แม้จะไม่ลงรอยกัน แต่ก็คงไว้ซึ่งท่าทีของตระกูลผู้ดีเก่าที่ยึดมั่นในศักดิ์ศรีและชื่อเสียง ต่อหน้าอาจไม่ค่อยมีปากเสียง แต่ลับหลังพวกเขาเลือกใช้แนวคิด “The whole is more important than the parts” (ส่วนรวมสำคัญกว่าส่วนย่อย) ในการจัดการกับปัญหาในตระกูล

ดรีม-ฐานิกา เจนเจษฎา หนึ่งในผู้กำกับ เผยว่า “ซีรีส์ชุดนี้ไม่ได้ตัดสินว่ามุมมองใดถูกต้องที่สุด ด้วยเจตนาที่ซ่อนเร้นและไม่จริงใจของแต่ละตัวละครในเรื่องแสดงให้เห็นว่าเมื่อทุกฝ่ายเข้ามาพัวพันกับคดีฆาตกรรมนี้ พวกเขาก็ล้วนส่งผลกระทบต่อกันและกัน ก่อให้เกิดวัฏจักรที่แต่ละคนต้องเผชิญผลลัพธ์จากการกระทำของตนเอง”

การบรรจงใส่ความละเมียดละไมในองค์ประกอบศิลป์และสัญญะของดอกไม้

ความโดดเด่นของซีรีส์เรื่องนี้คือลีลาการสืบสวนที่สอดแทรกศิลปะการจัดดอกไม้แบบอิเคบานะ (Ikebana) ซึ่งเป็นศิลปะการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นที่เน้นความเรียบง่ายและรักษาความงามตามธรรมชาติของดอกไม้ มาเป็นแนวคิดหลักในการไขปริศนาหาตัวฆาตกร อีกทั้งแต่ละซีนยังล้วนมีการใช้องค์ประกอบแสง สี เสียงที่ถูกจัดวางให้ส่งเสริมกันได้อย่างน่าสนใจ ราวกับหมู่ดอกไม้ที่รวมอยู่ในแจกัน

สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความสร้างสรรค์ในการแทรกสัญญะเกี่ยวกับดอกไม้ลงไปในภูมิหลังของตัวละคร เช่น ดอกกุหลาบสีน้ำเงินของตระกูลเอื้อเทพาที่หมายถึงความเป็นชนชั้นสูง แต่เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงในธรรมชาติ ต้องสังเคราะห์ขึ้นมา สื่อถึงความพยายามอยากเป็นผู้ดีมีชาติตระกูล

ดอกทิวลิปประจำตระกูลตั้งสินทรัพย์เป็นดอกไม้ที่เคยมีมูลค่าสูงในเนเธอร์แลนด์ และมีการแลกเปลี่ยนกันด้วยเงินจำนวนมหาศาล สื่อถึงความร่ำรวยฟุ้งเฟ้อ และการให้ความสำคัญกับเงินตรา ส่วนดอกดาหลาสีแดงให้ความรู้สึกลึกลับน่าค้นหา แต่เมื่ออยู่ระหว่างดอกกุหลาบสีฟ้าและดอกทิวลิปสีม่วง ก็ยังคงความสง่างามโดดเด่นของตัวเองไว้ได้ ไม่ถูกกลืนหายไปท่ามกลางการแข่งขันของดอกอื่นๆ ดังเช่นตัวละครดาหลา

เอลิซ่า เปียง หนึ่งในผู้กำกับซีรีส์ เล่าว่า “ด้วยความที่ซีรีส์เรื่องนี้มีตัวละครและมุมมองที่หลากหลาย เราจึงได้ร่วมกันออกแบบตัวละครอย่างเข้มข้นให้มีลักษณะนิสัยที่โดดเด่นต่างกันไปผ่านมุมมองทางด้านศิลปะและธรรมชาติ เช่น กำหนดคาแรกเตอร์แต่ละคนว่าสื่อถึงดอกไม้อะไร มีพาเลทสีประจำตัวและตระกูล จับคู่สถานที่ของแต่ละตระกูลกับลักษณะทางธรรมชาติ”

“สตูดิโอดอกไม้ของดาหลาเหมือนเป็นถ้ำ ในส่วนของบ้านตั้งสินทรัพย์ เรานึกถึงภาพวาดสไตล์จีนที่มักจะเด่นเรื่องการใช้พู่กันจีน จึงออกมาเป็นสถานที่ที่มีความเยือกเย็น สีซีดเทา และบ้านเอื้อเทพาจะเป็นป่าลึก หมอกทึบ พร้อมจะล่มสลาย” เอลิซ่า กล่าวเสริม

ซีรีส์ “ดาหลา บุปผา ฆาตกรรม” เป็นการผสมผสานความเป็นไทยเข้ากับศิลปะการจัดดอกไม้และการเล่าเรื่องแนวสืบสวนสอบสวนได้อย่างลงตัว พร้อมสอดแทรกประเด็นทางสังคมที่น่าครุ่นคิด ทำให้ผู้ชมได้ทั้งความบันเทิงและข้อคิดที่ลึกซึ้ง ซีรีส์นี้สามารถรับชมได้แล้ววันนี้ใน 190 ประเทศทั่วโลกเฉพาะบน Netflix เท่านั้น

SHARE
คนเล่าเรื่องไอที ที่เชื่อว่าการได้เดินทางและการพบปะพูดคุยกับผู้คนในสายงานต่าง ที่ไม่คุ้นเคยคือกำไรชีวิต...หลงไหลในการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ ตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อได้เจอเจ้าหน้าที่ ตม.
RELATED POSTS
สัมพันธ์ซับซ้อนของคน Gen Z กับโซเชียลมีเดีย
Netflix ปล่อยตัวอย่าง YOUR PLACE OR MINE: รักสลับบ้าน
Netflix รวบตึงอัปเดตร้อนๆ จากมหกรรม Geeked Week 2023

Leave Your Reply

*