บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในผู้นำระดับโลก ด้านโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ยกระดับความร่วมมือกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union หรือ ITU) ด้วยการร่วมลงนามในปฏิญญาเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทางด้านดิจิทัลและการส่งเสริมการสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัล

ภายในงานประชุมว่าด้วยการพัฒนากิจการโทรคมนาคมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ ITU ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร โดยทั้งสองฝ่ายให้คำปฏิญาณว่าจะยกระดับความร่วมมือในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ใน 6 ด้านหลัก ได้แก่ 1) การร่วมกันจัดเวทีหารือระดับสูงที่เปิดกว้าง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเชิงกฎหมายและนโยบายด้านไอซีที 2) การจัดทำงานวิจัยร่วมกัน 3) การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม 4) การพัฒนาขีดความสามารถทางด้านดิจิทัล 5) การเสริมพลังเด็กและเยาวชนเพศหญิง และ 6) การส่งเสริมความรู้และแนวทางปฏิบัติด้านดิจิทัล  

ในโอกาสนี้ ดร. คอสมัส ลัคกีซัน ซาวาซาวา ผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนากิจการโทรคมนาคมของ ITU ได้กล่าวว่า “หัวเว่ยถือเป็นพาร์ทเนอร์รายสำคัญของเราทั้งในระดับโลกและในระดับภูมิภาค โดยหัวเว่ยได้ให้การสนับสนุนงานของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ในด้านการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลของภูมิภาคละตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชียแปซิฟิกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ทางสหภาพโทรคมนาคมฯ จะยังคงกระชับความสัมพันธ์ในการทำงานกับหัวเว่ยให้แข็งแกร่งต่อไป และการลงนามในประกาศฉบับนี้ก็จะสร้างผลกระทบและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้”

 ITU ในฐานะองค์การชำนาญพิเศษของสหประชาชาติ ได้เสนอวิสัยทัศน์ว่าด้วยการพัฒนากิจการโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระดับโลก หรือ “Connect 2030 Agenda for Global Telecommunication/ICT Development” โดยจะมุ่งเน้นกลยุทธ์ในการนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ภายในปี พ.ศ. 2573

ภายใต้ภารกิจของ ITU ในการเชื่อมต่อทุกคนสู่โลกที่ดีกว่า หัวเว่ยได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ร่วมกับ ITU อย่างใกล้ชิดในการขับเคลื่อนนวัตกรรมไอซีทีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้จัดทำรายงานผลการวิจัยว่าด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหลายชิ้น ซึ่งผลการวิจัยเหล่านี้ยังได้รับการนำเสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีด้านไอซีทีของภูมิภาค เพื่อรายงานถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย รวมไปถึงเพื่อนำเสนอแนวปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ตามได้

หนึ่งในวิสัยทัศน์ที่หัวเว่ยและ ITU มีร่วมกัน คือการปิดช่องว่างทางด้านดิจิทัลและการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและไอซีที เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กและเยาวชน ผู้หญิง และกลุ่มเปราะบาง โดยเมื่อปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา หัวเว่ยและ ITU ได้จัดกิจกรรม “Walk into ICT Industry’ ให้แก่เยาวชนกว่า 30 คน และจัดทำโครงการ “Seeds for the Future” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทรนด์และเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดให้กับกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ด้วยการพาเยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมโซลูชันและการเรียนรู้ของหัวเว่ย (CSIC) ในกรุงเทพฯ และการจัดหลักสูตรอบรมเพื่อเสริมทักษะด้านดิจิทัลโดย Huawei ASEAN Academy สำหรับในปี พ.ศ. 2566 นี้ หัวเว่ยได้สนับสนุนโครงการ “Girls in ICT” ของ ITU โดยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมและโครงการฝึกงานเพื่อดึงดูดให้เยาวชนเพศหญิงหันมาสนใจศึกษาต่อในสาขาวิชา STEM (ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) พร้อมต่อยอดสู่อาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยี 5G ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และเทคโนโลยีคลาวด์     

นายเดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวถึงการลงนามในปฏิญญาฉบับนี้ว่า “นี่ถือเป็นเหตุการณสำคัญครั้งใหม่ในความร่วมมือกันขับเคลื่อนประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไปสู่ยุคดิจิทัล ตลอดระยะหลายปีมานี้ ทาง ITU ได้ให้การสนับสนุนและมอบความไว้วางใจให้หัวเว่ยดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านไอซีที สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และสร้างการเชื่อมต่อที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน ในก้าวต่อไปท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ มีอยู่สองเรื่องที่แน่ชัดสำหรับเรา นั่นคือความร่วมมือและการเปลี่ยนผ่านไปด้วยกัน ภายใต้ปฏิญญาร่วมกันนี้ หัวเว่ยจะเดินหน้าเสริมพลังดิจิทัลให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสามารถเชื่อมต่อโดยทั่วถึงกัน ด้วยความร่วมมือกับ ITU และพันธมิตรทุกภาคส่วน”        

ภาพของความมุ่งมั่นดังกล่าวได้สะท้อนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นภายในงานประชุมในวันเดียวกัน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ และแขกรับเชิญจากสหประชาชาติ รวมกว่า 20 คน มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัลในพื้นที่ห่างไกล โดยนายเดวิด หลี่ ได้นำเสนอมุมมองและประสบการณ์ในการสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐและพันธมิตรเพื่อส่งมอบบริการด้านดิจิทัล พลังงานไฟฟ้า การเชื่อมต่อบรอดแบนด์ให้แก่หมู่บ้านตามพื้นที่ต่างจังหวัดของประเทศไทย     

“การสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัลเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วน เราต้องการกรอบการทำงานที่มีความครอบคลุม ขับเคลื่อนด้วยความจำเป็น มีหลักฐานรองรับ มีการสนับสนุนจากพันธมิตร และสร้างผลลัพธ์ในระยะยาว ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านนโยบายและสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ ด้านการเชื่อมต่อบรอดแบนด์ที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน ด้านราคาที่ทุกคนจับต้องได้ ด้านการเสริมทักษะดิจิทัลสำหรับคนทุกกลุ่ม และด้านการบริการดิจิทัลที่หลากหลายและครอบคลุม” นายเดวิด หลี่กล่าวเสริม

ในขณะเดียวกัน ITU กำลังวางแผนนำเด็กนักเรียนในโครงการ Generation Connect มาเข้าร่วมในโครงการ “Seeds for the Future” ของหัวเว่ย โดยจะมีการจัดทริปพานักเรียนไปเยี่ยมชมและสัมผัสนวัตกรรมและอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ ในประเทศจีนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ หัวเว่ย และ ITU ยังคงเดินหน้าผลักดันการขับเคลื่อนนโยบาย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และการยกระดับอีโคซิสเต็มของอุตสาหกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อไป   

อ้างอิง – บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด

SHARE
คนเล่าเรื่องไอที ที่เชื่อว่าการได้เดินทางและการพบปะพูดคุยกับผู้คนในสายงานต่าง ที่ไม่คุ้นเคยคือกำไรชีวิต...หลงไหลในการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ ตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อได้เจอเจ้าหน้าที่ ตม.
RELATED POSTS
ได้เวลาเปลี่ยน “อเล็กซานดรา ไรช์” ลาดีแทค ตั้ง “ชารัด เมห์โรทรา” นั่งแทน
ซัมซุงจัดเวิร์กชอปออนไลน์ “เสริมเทคนิค Coaching สอน Coding ให้อยู่มือ”
“WeTV” ชวนโหวต “WeTV AWARDS” 11 รางวัล ที่สุดความบันเทิงแห่งเอเชีย ปี 2022

Leave Your Reply

*