บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผนึกกำลัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยไปรษณีย์และโทรคมนาคมปักกิ่ง (BUPT) จัดงาน Asia Pacific Cloud AI Forum & Huawei Developer Competition ระดมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีกว่า 300 คนจากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มุ่งพัฒนาบุคลากรด้าน ICT โดยเฉพาะนักพัฒนาระบบคลาวด์ เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งอาเซียน
การแข่งขันครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Spark Infinity: Innovate Today, Transform Tomorrow” ระหว่างวันที่ 20-21 มกราคม 2568 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีทีมเข้าร่วมแข่งขันเกือบ 200 ทีม รวมผู้เข้าร่วมกว่า 600 คน โดยใช้เครื่องมือพัฒนาระบบของหัวเว่ย เช่น API Explorer, CodeArts, ModelArts และ DataArts Studio ในการแก้โจทย์ปัญหาจากสถานการณ์จริง
ดร. ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า งานนี้สะท้อนความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้าน AI และนวัตกรรมดิจิทัลในภูมิภาค สอดคล้องกับนโยบาย Cloud-First และ AI ของภาครัฐ ที่เป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้พัฒนาบุคลากรดิจิทัลในประเทศไทยเกือบ 100,000 คน รวมถึงนักพัฒนา AI บนระบบคลาวด์ขั้นสูงเกือบ 12,000 คน ผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกว่า 50 แห่งในโครงการ ICT Academy
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลที่ประเทศไทยต้องการ การทำงานร่วมกับผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลกอย่างหัวเว่ย ช่วยให้สามารถเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล
หวัง เหยา ผู้อำนวยการสำนักงานระหว่างประเทศ BUPT เผยว่า ในฐานะศูนย์ฝึกอบรมสำคัญด้านเศรษฐกิจดิจิทัล BUPT มุ่งสำรวจโมเดลความร่วมมือใหม่ๆ กับภาคเอกชน พร้อมสร้างแพลตฟอร์มอย่าง UNTES Future Learning Center เพื่อเตรียมบุคลากรสำหรับยุคอัจฉริยะ
ทีมผู้ชนะการแข่งขันได้นำเสนอนวัตกรรมที่น่าสนใจ อาทิ ระบบเสริมการบำบัดการพูดทางไกลด้วย AI สำหรับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางภาษา และระบบการจัดการอาคารอัจฉริยะแบบบูรณาการ โดยผู้ชนะจะได้รับรางวัลรวมมูลค่า 34,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมโอกาสการฝึกอบรมและร่วมงานกับหัวเว่ยในอนาคต